2. ประวัติความเป็นมาของโครงการ




       สืบเนื่องจากคุณหญิงสุชาดา  อรรถวิจิตรจรรยารักษ์  อดีตนายกสมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย และอดีตเจ้าของสถานเสริมสวยและโรงเรียนสอนตัดผมจันทนา  ผู้ซึ่งมีโอกาสรับใช้สนองพระเดชพระคุณในเบื้องยุคลบาทของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิราสราชนครินทร์   สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี อยู่เนืองนิตย์
        ในปี พ.ศ.2512 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณหญิงฯ ได้เข้าถวายงานรับใช้พระเดชพระคุณเบื้องยุคลบาทในการถวายงานพระเกศาประจำพระองค์  และทรงพระเมตตาพระราชทานพระเกศาส่วนหนึ่งเพื่อความเป็นมหาศิริมงคลแก่คุณหญิงสุชาดา ซึ่งทรงแสดงพระเมตตาต่อคุณหญิงฯเสมือนหนึ่งเป็นข้าในพระองค์  คุณหญิงได้เก็บรักษาพระเกศาไว้สักการบูชาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด     จนกระทั่งคุณหญิงฯมาปรารภว่า    พระเกศาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯของไทยเราถึง 2 พระองค์  แสดงถึงทรงมีพระบุญญาธิการยิ่งใหญ่  การที่พระเกศาของพระองค์เก็บรักษาอยู่กับคุณหญิงฯหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งส่วนตัวนั้น  ต่อไปภายหน้าถ้าหากไม่มีใครเห็นความสำคัญให้การสักการบูชาแล้ว ย่อมเป็นการไม่บังควรเหมาะสม ทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็น้อยไม่ยิ่งใหญ่ไพศาล   พระเกศาสมเด็จย่าซึ่งเป็นมงคลสูงสุดนี้  จึงสมควรเหมาะสมกับผู้มีบุญญาธิการที่จะได้ไว้สักการบูชา จึงเห็นสมควรนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงอยู่ในฐานะเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกแทนพระองค์  พระราชทานพระราชวโรกาสให้คุณหญิงสุชาดา  อรรถวิจิตรจรรยารักษ์ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย     พระเกศาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี           ณ พระตำหนักนนทบุรี เวลา 17.15 น. ตรงกับวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน  พ.ศ.2539

        ส่วนพระเกศาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีส่วนที่ 2 คุณหญิงสุชาดา  อรรถวิจิตรจรรยารักษ์มีความปรารถนาอยากให้นำมาประดิษฐานเป็นสมบัติของชาวจังหวัดสกลนครยังถิ่นมาตุภูมิ เพื่อให้ชาวจังหวัดสกลนครและพสกนิกรทั่วไปได้สักการบูชาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและเป็นมหาศิริมงคล ได้ถวายความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าที่มีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า  จึงได้ถวายพระเกศาส่วนนี้แก่พระมหาคาวี  ญาณสาโร  เจ้าอาวาสวัดสะพานคำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวสกลนครที่คุณหญิงฯเคารพนับถือ ได้กำหนดวันถวายในวันมหามงคลของชาวไทยวันที่ 5 ธันวาคม  พ.ศ.2548  ณ บ้านเลขที่ 120/2 สุขุมวิท 39 เขตวัฒนา  กรุงเทพมหานคร

        นายปรีชา  กมลบุตร  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครและภริยา  ได้จัดขบวนอัญเชิญพระเกศาสมเด็จย่าจากสนามบินสกลนครมาประดิษฐานที่วัดสะพานคำอย่างสมพระเกียรติ และเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2549 ได้จัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร มีมติเห็นร่วมกันที่จะจัดสร้างพระมหาเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาสมเด็จย่า เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติแก่สมเด็จย่า  
        ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม  พ. ศ 2554 พระมหาคาวี  ญาณสาโร  จึงได้ออกสำรวจพื้นที่และได้เห็นพื้นที่เหมาะสม  ณ  บ้านนาแก้ว  ตำบลนาแก้ว  อำเภอโพนนาแก้ว  จังหวัดสกลนคร ริมฝั่งหนองหารด้านตะวันออกจำนวน 72 ไร่  จึงได้ขอความร่วมมือจากนายช่างวิศวกรโยธาจังหวัดสกลนครออกไปสำรวจพื้นที่  เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ..2555 พระมหาคาวี ญาณสาโร พร้อมด้วยนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนคร ได้เข้าไปพบนายจรินทร์ จักกะพาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร   เพื่อขอคำปรึกษาและสนับสนุนโครงการ  ซึ่งท่านได้เห็นชอบและยินดีที่จะสนับสนุนผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จตามที่เสนอ

พระมหาคาวี ญาณสาโร ได้นำโครงการนี้ไปปรึกษาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถรป.ธ.9 ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ซึ่งได้รับความเห็นชอบและยินดีให้การสนับสนุนโครงการนี้ด้วยดี